หนัง 7 Days in Entebbe เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี 1976 เมื่อเหล่าผู้ก่อการร้ายบุกจี้เครื่องบินโดยสาร Air France และถูกบังคับให้ลงจอดที่เมือง Entebbe ประเทศยูกันดา ทางรัฐบาลจึงต้องหาวิธีการเพื่อทำภารกิจชิงตัวประกันกลางแดนเดือด
Inspired by the true events of the 1976 hijacking of an Air France flight en route from Tel Aviv to Paris, and the most daring rescue mission ever attempted.
7 Days in Entebbe | José Padilha
7 Day In Entebbe เป็นหนังกดดันช้าๆ ที่เดินเรื่องด้วยบทสนทนายุบยับ และเต็มไปด้วยบริบททางการเมืองระหว่างทหาร ฝ่ายปกครอง และฝ่ายต่อต้าน แต่ก็เป็นหนังที่ครบเครื่องความเป็นหนังประวัติศาสตร์ชนชาติยิว โดยเฉพาะการพาไปสำรวจทุกพื้นที่ของมนุษย์ในเหตุการณ์นี้ได้อย่างน่าสนใจ มีความลุ่มลึก ความอึดอัด และการเข้าถึงอย่างน่าประหลาด มันทำให้เราสนุกมากๆ อย่างไรก็ตามมันเป็นหนังที่มีความเฉพาะกลุ่มสูง และการพูดคุยกัน รวมไปถึงการดำเนินเรื่องทั้งหลาย ก็เหมือนจะตั้งอยู่บนสุมมติฐานที่ว่าคนดูมีความรู้ด้านยิวมาก่อน ซึ่งก็นั่นแหละถ้าไม่ทำการบ้านมา ก็อาจดูหนังไม่รู้เรื่องเลย ทำให้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน
7 Day in Entebbe เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง จากการจี้เครื่องบินของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนปาเลสไสตน์ในปี 1976 บนสายการบิน Air France จากกรีกไปปารีส โดยเป็นการจี้เครื่องบินที่ได้รับการร่วมมือจากเยอรมันหัวขบถที่ต่อต้านเผด็จการ 2 คนและปาเลสไตน์อีก 2 คน ก่อนจะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเอนเทบเบ้ในอูกันด้า ที่ตอนนั้นสงครามเย็นกำลังลุกเป็นไฟ อูกานด้าเองก็เลือกจะเอาใจรัสเซียด้วยการช่วยเหลือการจี้เครื่องบินนี้ โดยแนวร่วมก่อการร้ายปาเลสไสตน์พยายามเจรจากับอิสราเอลเพื่อปล่อยนักโทษทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยปกครองกลาโหม และรัฐบาลว่าตกลงเราจะเจรจา หรือไม่เจรจาและจัดการอย่างเฉียบขาด ที่จะนำไปสู่การช่วยเหลือสายฟ้าแล่บอันโด่งดังไปทั่วโลกในยุคนั้น และทำให้หน่วยมอสสาร์ดที่เป็นหน่วยลับคล้าย CIA ของอเมริกาได้เชิดชูในวงการหน่วยข่าวกรองมาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งหนังจะพาเราเข้าไปสำรวจทุกๆ พื้นที่ของเหตุการณ์เหล่านั้น ผ่านตัวละครที่เป็นหมากจากฟากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวประกัน วิศวกรกัปตันชาวฝรั่งเศษ ปาเลสไตน์หัวรุนแรง กลุ่มเยอรมันแบบนักปฏิวัติ หน่วยรากทหารของมอสสาร์ด ประชาชนชาวยิวที่ต้องเผชิญกับนโยบายเหล่านั้น รัฐมนตรีกลาโหมที่ยืนยันว่าจะจัดการทุกอย่างด้วยความเฉียบขาด ไม่เจรจา กับนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะฝ่ายปกครองที่ต้องเผชิญกับความรับผิดชอบจากหลายๆ ช่องทาง ทั้งในการรับมือกับความสูญเสีย การหยั่งเสียงนโยบาย การเจรจา หรือรับมือกับการปฏิบัติการที่ผิดพลาด โดยเขามองว่าถ้าหากไม่เจรจา เราก็จะต้องสู้ไปต่อเรื่อยๆ
ซึ่งหนังทำได้ดีมากๆ กับการเข้าไปอยู่เคียงข้างเหตุการณ์ต่างๆที่ไล่ระดับ 7 วัน ระดับความกดดันระหว่างการตัดสินใจของแต่ล่ะฝ่ายค่อยๆ หนักขึ้นไปเรื่อยๆ ตามวันที่เข้าใกล้การเจรจา เราจะได้เห็นความใจอ่อนของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน และเราก็จะได้เห็นใจเหี้ยมดำของฟากเดียวกันนี้เช่นกัน หนังไม่ชัดเจนเรื่องฟากตัวละครเท่าไหร่นัก ทุกคนในเรื่องเป็นสีเทา และทุกคนก็มีเหตุผลของตัวเองในการลงมือตัดสินใจทำ เราจะได้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายเองก็เป็นมนุษย์ มีจิตใจ นักปฏิวัติเองก็มีความรู้สึก มีความนึกคิดเพื่อมนุษย์ชนเฉกเช่นคนอื่นๆ หรือความขัดแย้งแบบที่ยิวจะมองเห็นเท่านั้น เช่นการเกณฑ์ทหาร ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกจองจำในการต่อสู้ไม่สิ้นสุดเสมอ หรืออีกฟากหนึ่งก็คือถ้าเราทำไม่เด็ดขาด ถ้าเราเปิดเจรจากับก่อการร้าย ชาวยิวทุกคนก็จะอยู่ในอันตราย ไม่มีใครอยากทำแบบนี้หรอก แต่ทหารทั้งหลายต่างก็กำลังต่อสู้เพื่อให้ “ผู้คนทั่วไปได้เต้นรำอย่างเสรี” และต้องมีคนเสียสละเสมอ
7 Day in Entebbe จึงเป็นหลุมความขัดแย้งที่พร้อมจะสาดใส่กันด้วยบทสนทนาเสมอ และมันก็น่าสนใจมากๆ เพราะในแต่ล่ะเหตุการณ์ที่ตัวละครแต่ล่ะตัวต้องเผชิญ มันหนักหน่วง ต้องผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบาก เพราะสุดท้ายเราเอาใจทุกคนไม่ได้ และเราก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เราตัดสินใจเสมอ การเป็นชาตินิยมในเรื่องมันเลยรุนแรงและขัดแย้งกันเองตลอดเวลา เพราะต่างก็อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชาติตัวเอง
ซึ่งพอเป็นแบบนั้น มันผลักให้หนังเรื่องนี้ไปไกลกว่าหนังการเมืองปกติ เพราะมันกล้าเข้าไปเผชิญกับความขัดแย้งของชาวยิวที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจจะเข้ามายุ่ง เพราะจะถูกแบนจากวงการได้ง่ายๆ แต่ถ้าไม่ใช่ชาวยิวเองทำแล้วใครจะทำ หนังเรื่องนี้จึงเป็นมุมมองที่น่าสนใจจากหลายฝ่าย และการเลือกวางตัวอย่างไม่ตัดสินในหนังเรื่องนี้ มันทำให้หนังมีมิติของตัวละครที่กลม และสื่อสารแนวคิดความขัดแย้งจากโครงสร้างได้ลุ่มลึกและน่าเจ็บปวด
สุดท้ายแล้วไม่มีใครเป็นฝ่ายดีชั่ว ประมาณว่า “คิดว่าดีก็ลงมือทำ” หนังเป็นเรื่องราวของการ “สร้าง” แต่ไม่ใช่ภาวะงดงามเหมือนการสร้างฝัน แต่เป็นการสร้าง “ชาติ” ที่บ่อยครั้งเต็มไปด้วยคาวเลือด การเสียสละ และกลิ่นควันปืน จากสองฝ่ายที่คิดว่าตัวเองทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
เป็นหนังเฉพาะกลุ่มจริงๆ ต้องรู้ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของอิสราเอลระดับหนึ่ง รู้จักนาโต้ รู้จักสงครามเย็น วิธีการเล่าเรื่องของหนังไม่ค่อยปูให้คนดูรู้เรื่องเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะไปต่อโดยไม่สนใจความเข้าใจเหล่านั้น ทำให้คนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมหรือทำการบ้านไปอาจไม่เข้าใจเนื้อเรื่องไปเลย และด้วยความที่เต็มไปด้วยบทสนทนาที่ค่อนข้างหนักหน่วง มันทำให้หนังไม่ไหลลื่น เนื่องจากมันกดดันตลอดเวลาจนไม่มีที่พักหายใจเท่าไหร่ แต่การตัดต่อ และภาพที่เฉียบขาดแบบฉบับฮอลลี่วู๊ดก็ช่วยพยุงหนังให้เดินไปอย่างสง่าผ่าเผยได้เสมอ รวมไปถึงการแสดงของเยอรมันสองคนที่เนี๊ยบมาก เราได้เห็นภาวะความสิ้นหวังจากอุดมการณ์ กับภาวะที่ยึดมั่นกับมันที่น่าสนใจจากคนสองคนนี้จริงๆ
โดยรวมแล้วเราชอบมากๆ แต่เนื่องจากมีความดูยากอยู่เยอะ ทำให้ไม่ค่อยเหมาะกับบุคคลทั่วไปนัก แต่ถ้าเป็นนักรัฐศาสตร์ รู้จักหน่วยมอสสาร์ด หรือเป็นคนที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์สมัยใหม่ล่ะก็ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องดูจริง การพาไปรู้จักทุกตารางเกมอำนาจทางการเมืองในหนังเรื่องหนึ่งเราเห็นไม่บ่อยนักหรอก โดยเฉพาะการวิพากศ์วิจารณ์ตัวเองของยิวที่เต็มไปด้วยชาตินิยมแบบนี้
ความคิดเห็น (1)