หนัง Girl เรื่องราวของ Lara คือเด็กสาววัย 15 ปี ที่กลายมาเป็นนักเต้นบัลเล่ต์สุดยิ่งใหญ่ ด้วยความช่วยเหลือจากพ่อของเธอ เธอได้เข้าเรียนในโรงเรียนบัลเลต์ แต่เธอกลับต้องสับสนและรู้สึกน่าหงุดหงิดใจ เมื่อเธอค้นพบความจริงบางอย่างว่าเธอเกิดมาในร่างของผู้ชาย
Lara is a 15-year-old girl, born in the body of a boy, who dreams to become a ballerina.
ผู้ชมทั้งหมด
8,149 ครั้ง
|
เข้าฉาย
10 มกราคม 2562
|
ออกโรงแล้ว |
14 มกราคม 2562 21:32:39 (IP 125.24.79.xxx)
|
||
Girl (Lukas Dhont | Belgium, Netherlands | 2018) หนังเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นชายที่อยากและกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของแพทย์ให้ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง ขณะที่เธอใฝ่ฝันและพยายามจะเป็นนักเต้นบัลเลต์หญิงให้ได้ และเธอต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดแย้งกับสภาพร่างกายซึ่งมีผลต่อสภาวะจิตใจของเธอ ด้วยฝีมือของ Lukas Dhont ผู้กำกับหนุ่มเบลเยี่ยมที่อายุยังไม่ถึง 30 แต่สามารถลงรายละเอียดสำรวจสภาวะจิตใจของวัยรุ่นร่างชายที่พร้อมจะข้ามเพศเป็นหญิงที่มีปมปัญหาในใจได้อย่างหนักหน่วงน่าติดตาม และการแสดงของ Victor Polster ก็ถ่ายทอดตัวละครได้มีชีวิตมากๆ จนเชื่อในทุกๆ การย่างกรายของคนที่ฝันอยากเป็นนักบัลเลต์และคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นหญิงเต็มตัว ราวกับว่าแม่ที่ไม่มีอยู่ในบ้านได้รวมจิตเข้ากับ Lara และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงร่างกายของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่แปลกใจเลยที่ได้รางวัลนักแสดงสาย Un Certain Regard มาจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ในปีที่ผ่านมา เพราะทุกกระเบียดจริต น้ำเสียง ท่าทาง และสายตาทั้งหมดนั้นทำให้เชื่อสนิทว่าเป็นเป็นผู้หญิงเต็มตัวไปแล้วตั้งแต่ต้น ชอบรายละเอียดของฉากต่างๆ ที่มีอยู่ในหนัง เช่น ฉากบังคับให้น้องชายใส่เสื้อไปโรงเรียน และฉากอาบน้ำรวมกับเพื่อนผู้หญิง ความกระอักกระอ่วนของอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมันถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านทั้งบท การแสดง การกำกับ และการถ่ายภาพที่เชื่อมประสานกันได้พอดี มันทำให้เรื่องราวที่เราไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่จะเชื่อมโยงกับมันได้มากกลายเป็นเรื่องที่เรารู้สึกร่วมกับความทุกข์นั้นจนอยากจะรู้จักเพื่อที่จะเรียนรู้และเข้าใจชีวิตของ Lara ได้มากขึ้น Lara ไม่ใช่ภาพแทนของหญิงข้ามเพศหรือภาพแทพของความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ได้โดยทั่วไป เมื่อหนังไม่ได้ตั้งเส้นสำรวจเรื่องราวไว้ตรงกึ่งกลางชีวิตทั่วๆ ไป แต่ขุดลึกถึงสภาวะจิตใจส่วนตัวของ Lara ที่ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ และรับมือกับมันด้วยวิธีการจัดการของตัวเองที่เธอเสพติด ที่ในบางบริบทสังคมครอบครัวหรือสังคมเพื่อนอาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรหนักหนา ทำตัวอยู่ยากเกินไปหรือเปล่า และน่ารำคาญเกินที่ต้องคอยดูตัวละครแสดงออกและทำอะไรๆ ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีที่เธอใช้ผ่อนเบาปัญหา แต่นั่นก็ดูเป็นการเอาสภาพจิตใจปกติของตัวเองไปนั่งคิดแทน Lara ที่มีสภาวะจิตใจอีกแบบมากไปหน่อย ซึ่งมันไม่แฟร์กับเธอ ขณะที่ทั้งปีมีภาพยนตร์หลายเรื่องได้เล่าการไม่ยอมรับทางเพศด้วยอุปสรรคจากครอบครัวมาแล้วมากมาย แต่ใน Girl ครอบครัวคือตัวละครพ่อที่รักเป็นห่วงลูกและพยายามเข้าอกเข้าใจลูกอย่างมากที่สุดต่างจากพ่อในหนัง LGBTIQ เรื่องอื่น แต่ถึงจะมีตัวละครที่คอยโอบอุ้มและพยายามแบ่งเบาความรู้สึกทุกอย่าง แต่บทหนังก็ไม่ประนีประนอมที่จะถ่ายทอดความทุกข์สาหัสสุดกลั้นของตัวละครอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่คำนึงว่าคนดูส่วนใหญ่จากต่างสังคมโลกที่หลากหลายจะแทนตัวเองกับตัวละครให้อินได้หรือไม่ได้ และนั่นคือความกล้าหาญที่น่าชื่นชม ยังมีส่วนที่หนังไม่ได้เล่าแต่ก็อยากเห็นมากๆ คือครอบครัวของเธอทั้งพ่อ แม่ และน้องชายรับมือสื่อสารและปฏิบัติกับ Lara อย่างไรก่อนหน้าที่เธอจะมีสภาวะจิตใจอย่างที่เห็นและรับมือกับมันอย่างพยายามแบบสุดๆ ที่จะเข้าใจ ซึ่งหนังก็ทำให้เห็นว่าไม่มีใครเข้าใจ Lara ได้มากพอที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจเธอให้เป็นปกติได้ และมีสิ่งเดียวเท่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงร่างกายครั้งใหญ่นั่น น่าเสียดายนิดหน่อยที่หนังจบด้วยการทิ้งภาพสรุปไว้แบบสั้นๆ ไม่กี่ช็อตในตอนท้ายซึ่งเป็นการสรุปของสถานการณ์ทั้งหมด ถ้าปล่อยยาวมากกว่านั้นอีกสักหน่อยก็คงได้ซึมซับความสุขหลังจากผ่านความทุกข์ทรมานที่กดทับไว้ภายในใจของ Lara ได้มากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อยิ้มแสดงความยินดีกับชีวิตใหม่ของเธอได้อย่างราบรื่นหายคาใจว่าเธอได้ผ่านมันมาแล้วจริงๆ และอยากจะให้เธอเดินกลับไปเจอเพื่อนแก๊งบัลเลต์เจ้าของงานวันเกิดแล้วเอาผลงานหมอฟาดหน้าแม่งงงงงงงง!!! ---------- ---------- ---------- ---------- ---------- บทภาพยนตร์: Lukas Dhont, Angelo Tijssens นักแสดง: Victor Polster, Arieh Worthalter, Oliver Bodart, Tijmen Govaerts, Katelijne Damen, Valentijn Dhaenens ประเภทหนัง: Drama ภาษา: เฟลมิช, ฝรั่งเศส ความยาว: 106 นาที สรุปผลวิจารณ์หนัง
บทหนัง
8.5
การดำเนินเรื่อง
9.5
ดนตรีประกอบ
7
ฝีมือนักแสดง
10
กราฟฟิก
7.5
คะแนนเฉลี่ย
8.5
|
||
9 มกราคม 2562 17:06:15 (IP 119.46.186.xxx)
|
||
[รีวิว] - Girl - ฝันนี้เพื่อเป็นเกิร์ล หนังที่มีกิตติศัพท์มามากมาย กับหนังที่ได้รางวัลจากเทศกาลเมืองคานส์ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลผู้กำกับหนังครั้งแรกยอดเยี่ยม Camera D’Or, รางวัล Queer Palm และ Prix FIPRESCI เป็นต้น ยังได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย แถมยังได้คะแนนจากเว็บ Rotten Tomatoes และ IMDb สูงอีกต่างหาก เลยจำเป็นต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง หนังว่าด้วยเรื่องของวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ตัวเป็นชายแต่ภายในเป็นหญิง ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักบัลเลต์ จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนบัลเลต์ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกาย การเปลี่ยนแปลง สภาวะจิตใจ ทำให้เธอต้องพยายามมากกว่าคนอื่นๆ เธอต้องฝ่าฟันผ่านแรงกดดันต่างๆ และต้องรักษาสภาพร่างกายเพื่อที่จะผ่าตัดแปลงเพศให้ได้ ก็ต้องบอกกันตามตรงว่าหนังค่อนข้างจะน่าเบื่อมาก ดำเนินเรื่องช้าๆ เนิบๆ ตามสไตล์หนังยุโรป หนำซ้ำหนังมันเงียบมาก มีเพลงประกอบน้อยมาก เงียบแบบนั่งในโรงนี่หายใจยังเกรงใจคนข้างๆ เลย และมันก็ยังไม่ได้มีจุดที่กระทบจิตใจ หรือดราม่าหนักๆ สักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้โดดเด่นมากๆ คือนักแสดง ให้ตายเถอะ โรบิ้น! ไม่อยากจะเชื่อว่าผู้ที่รับบทนำในเรื่องนี้อย่าง Victor Polster เป็นผู้ชายและอายุเพียง 16 เท่านั้น เขาถ่ายทอดบทบาทนี้ได้อย่างลึกซึ้ง และไม่ว่าดูยังไง๊ยังไงก็ผู้หญิง ทั้งท่าทางการแสดงออก จริตจะก้าน สายตา ใบหน้า บอกตรงๆ ว่าดูไม่ออกจริงๆ ว่านี่คือผู้ชาย ตลอดทั้งเรื่องพยายามมองว่าเป็นผู้ชาย ก็มองไม่ออกจริงๆ และถึงแม้จะเห็นร่างกายว่าเป็นชายยังไง ภาพที่เห็นตรงหน้าเขาก็คือผู้หญิงคนนึงจริงๆ นอกเหนือจากความเหมือนหญิงสุดๆ ขนาดนั้นแล้ว ต้องบอกเลยว่า Victor เอาอยู่ทั้งเรื่อง ด้วยความที่เขาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของหนังเรื่องนี้ ทุกฉากที่ปรากฏบนจอจะต้องมีเขาดำเนินเรื่องอยู่ตลอด และเขาก็เข้าถึงบทบาทนั้นแบบสุดๆ อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ไม่ว่าจะการถ่ายทอดอารมณ์ สีหน้า ท่าทาง เขาทำมันออกมาได้ดี ไร้ที่ติจริงๆ เขาแบกหนังเอาไว้ทั้งเรื่องเลยทีเดียว อีกทั้งยังเปลืองตัวแบบที่ไม่คิดว่าจะเอาเด็กขนาดนี้มาแสดงบทแบบนี้ แต่ต้องยอมรับว่าเขาทำได้ดีเกินคาดจริงๆ และสิ่งที่มันส่งผ่านมาถึงเราคือ เมื่อใดที่ตัวละครตัวนี้รู้สึกยังไง มันสามารถส่งผ่านมาถึงเราให้รู้สึกได้ตามจริงๆ ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นความพยายามของตัวเอก ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เธอต้องต่อสู้ ดิ้นรน พยายาม แบกรับความกดดันในตัวเอง อีกทั้งยังต้องยอมให้สังคมยอมรับอีกต่างหาก มีหลายๆ ฉากที่ชวนให้จุก น่าสงสารตัวเอกมากๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพื่อน ถึงแม้หนังจะไม่ได้มีฉากร้องไห้ฟูมฟายเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ แต่เขาก็สามารถเล่นและแสดงสีหน้า ถ่ายทอดออกมาให้เราเห็นได้อย่างเจ็บปวดแบบสุดๆ บวกกับมุมกล้องที่ถ่ายแคบแทบทั้งเรื่อง ไม่ได้มีช่องให้เราได้หายใจ ทำให้เรายิ่งรู้สึกอึดอัดกับตัวละคร กับเนื้อเรื่องในช่วงนั้นๆ ตามไปด้วยเลย นอกจากการต้องต่อสู้ภายในจิตใจตัวเองแล้ว เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมของพ่อ-ลูกคู่นี้ด้วย เพราะโดยส่วนใหญ่หนังประเภทข้ามเพศแบบนี้ เรามักจะได้เห็นความขัดแย้งจากครอบครัว ซึ่งมันไม่ใช่กับเรื่องนี้ เพราะในเรื่องนี้ พ่อสนับสนุนลูกทุกอย่าง เอาใจช่วย เป็นกำลังใจ เป็นห่วง มันดูน่ารัก ทำให้ตัวละครตัวนี้กลายเป็นตัวละครที่อบอุ่น และเต็มไปด้วยความรักอย่างล้นเปี่ยม มันไม่ได้เป็นหนังทั่วไปที่เหมาะสำหรับทุกคนเพราะเนื้อเรื่องที่ช้า ไม่ค่อยสนุก และน่าเบื่อไปสักหน่อย แต่มันก็ไม่น่าเสียดายที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้สักครั้งนึง สรุปผลวิจารณ์หนัง
บทหนัง
8
การดำเนินเรื่อง
7.5
ดนตรีประกอบ
5
ฝีมือนักแสดง
10
กราฟฟิก
7
คะแนนเฉลี่ย
7.5
|
ยังไม่มีรีวิวหนังเรื่องนี้
ถูกใจ
ไม่ถูกใจ