แม้นยุทธหัตถีจะเป็นมหาศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ก็หาใช่ศึกสุดท้ายที่ทำให้อโยธยามีความสุขสงบมาอีกกว่า 200 ปีไม่ หากคือการเริ่มต้นแห่งการรวบรวมบ้านเมืองและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดิน สู่บทสรุปของอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอ็คชั่นอิงประวัติศาสตร์ จากตํานานกษัตริย์นักรบไทยอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย กว่า 4 ศตวรรษ กับเรื่องราวในตํานานที่เกิดขึ้นหลังจากอภิมหาศึกคชยุทธ์ยุทธหัตถีจบลง บทสรุปของทุกตัวละครในตํานานที่เกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้นกับพระเจ้านันทบุเรง หลังจากพระมหาอุปราชาทรงสวรรคต ชีวิตทหารไพร่พลพม่ารามัญที่พ่ายแพ้จากศึกในประวัติศาสตร์เมื่อเดินทางกลับสู่กรุงหงสา วิบากกรรมที่พระสุพรรณกัลยาทรงรับไว้ ชีวิตที่ดําเนินต่อไปของมณีจันทร์ที่ทรงตั้งพระครรภ์ การเดินทางมุ่งหน้ากลับสู่หงสาในการรบครั้งสุดท้ายตามพระประสงค์ของสมเด็จพระนเรศวร
ผู้ชมทั้งหมด
15,042 ครั้ง
|
เข้าฉาย
9 เมษายน 2558
|
ออกโรงแล้ว |
17 เมษายน 2558 16:00:12 (IP 125.24.98.xxx)
|
||||||||
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 6 ตอน อวสานหงสา (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล / Thailand / 2015)
8 ปีเต็ม ของการเดินทางนับตั้งแต่ ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา’ เข้าโรงฉายให้คนไทยไพร่ฟ้าได้ยลยินให้ประจักษ์แก่ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ไทยซึ่งปลุกกระแสความรักชาติได้อย่างท่วมท้น ถามใครก็รู้จักและพูดถึงไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดงอาม่าอากง และเห็นได้จากรายได้แต่ละภาคที่เฉลี่ยแล้วมากกว่า 200 ล้านบาท แต่เมื่อต้องแบ่งค่าตั๋วกับโรงหนังตามวิถีก็ทำให้พอหักลบกลบทุนแล้วรายได้แล้วก็ยังไม่คุ้มทุนสร้างที่ทุ่มเงินไปมากกว่างบบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัดวาอารามในแต่ละปีเสียอีก แต่ด้วยสปิริตอันแรงกล้าทำให้ ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ดั้นด้นมาถึงภาค 6 ซึ่งเป็นภาคปิดฉากสุดท้ายนี้ หลังจากที่ ภาค 5 เคยเป็นภาคสุดท้ายมาแล้วก่อนหน้านั้น
หนังเปิดฉากด้วยภาพย้อนอดีตเมื่อครั้งทำศึกยุทธหัตถีในภาคที่แล้ว ซึ่งพระมหาอุปราชา (นภัสกร มิตรเอม) พ่ายยุทธหัตถีต่อพระนเรศวร (พ.ท.วันชนะ สวัสดี) เป็นผลพวงให้พระเจ้านันทบุเรง (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) โกรธกริ้วและพาลลั่นลงโทษประหารทัพทหารที่เหลือรอดกลับมาทั้งโคตรทำให้เสียกำลังทัพและไพร่พล รวมถึงได้ปลิดชีพพระสุพรรณกัลยา (เกรซ มหาดำรงค์กุล) ซึ่งเป็นองค์ประกัน ทำให้พระนเรศวรยืนกรานยกทัพไปกำราบพระเจ้านันทบุเรงถึงเมืองตองอู และแล้วก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ต่างฝ่ายต่างแพ้ภัยของกันและกันเอง
ถึงแม้โดยรวมแล้วหนังออกจะประดักประเดิดถึงขั้นล้มเหลวเมื่อเทียบกับงานกำกับในภาคอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของท่านมุ้ย เมื่อมองความสมบูรณ์ด้านการเล่าเรื่องทั้งตัวบทและการกำกับมันเลวร้ายยิ่งกว่าตอน ‘ยุทธหัตถี’ ภาคก่อนหน้าที่ผู้ชมไม่น้อยบ่นกันว่าเป็นหนังที่ไม่สมศักดิ์ศรีกับการเป็นภาคปิดฉากบทสรุปมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลพวงที่ทำให้ประกาศเกิดภาคนี้ต่อมา หนังเริ่มโอนเอนตั้งแต่คลอดไตเติ้ลต้นเรื่องที่เล่าย้อนถึงภาคก่อนหน้าที่ทั้งจังหวะการตัดต่อ สกอร์ดนตรีประกอบ และกราฟฟิกตัวหนังสือต่างขัดแข้งขัดขากันและกันให้ล้มครืนไปพร้อมกับร่างของพระมหาอุปราชาที่พ่ายยุทธหัตถี
ต่อด้วยการเล่าเรื่องอย่างรวดเร็วว่องไวแต่กลับไม่รู้สึกถึงความกระชับและไหลลื่น รายละเอียดหลายอย่างถูกทิ้งขว้างให้เหลือเพียงเส้นเรื่องที่ปล่อยให้ตัวละครพามุ่งตรงไปเผชิญ ตัวละครและสถานการณ์ที่ดูมีมิติชั้นเชิงก็กลายเป็นเรียบแบนไร้อารมณ์ การถ่ายภาพบางช็อตบางตอนที่ผิดเพี้ยนไป เทคนิคแต่งหน้าพระเจ้านันทบุเรงที่กำกึ่งว่าน้ำเหลืองไหลหรือสีไม่แห้ง และเทคนิคภาพพิเศษเช่นฉากธงทัพสะบัดไกวแต่ใบไม้ด้านหลังมิไหวติงที่ดูตัดแปะยิ่งกว่าภาคไหนๆ โดยเฉพาะฉากประดาบแรกพบระหว่างพระเอกาทศรส (พ.อ.วินธัย สุวารี) กับ เม้ยมะนิก (เต็มฟ้า กฤษณายุธ) ที่ฉากแอคชั่นเห่ยๆ เก้ๆ กังๆ ช่างเลวร้ายพอดิบพอดีกับฉากหลังพระพุทธรูปที่พิกเซลระเอียดยับเสียเหลือเกิน
แต่ถึงอย่างนั้นในทุกๆ ส่วนที่กล่าวมานี้ยังมีความน่าสนใจซ่อนให้เห็นอยู่ ส่วนหนึ่งกลายเป็นความบันเทิงที่มาจากฉากสงครามฉากแอคชั่นที่ด้อยเปลี้ยยิ่งกว่าทุกภาคที่ผ่านมาแต่ประดักประเดิดจนขบขันได้ใจจริงๆ และส่วนตัวเพิ่งพบความบันเทิงจากตัวละครทั้งหลายทั้งที่ภาคก่อนหน้าก็มีส่วนประกอบเหล่านี้อยู่แต่ส่วนตัวเพิ่งสัมผัสได้ในภาคนี้ 1. ชื่อตัวละครที่นอกจากจะแปลกหูและยาวเหยียดแล้ว มันยังฟังดูไพเราะทุกครั้งที่ได้ยินชื่อตัวละครมากมายหลายชื่อ หนำซ้ำหลายตัวละครยังมีชื่อเรียกในแต่ละถิ่นที่ไม่เหมือนกัน สัมผัสได้ทั้งความงุนงงและลุ่มรวยทางภาษาชาติอาเซียนเพื่อนบ้านไปในเวลาเดียวกัน 2. ลักษณะตัวละครฝ่ายร้ายที่เหมือนถอดแบบออกมาจากละครเย็นทางโทรทัศน์ เช่น เมงเกสอ (รัชนี ศิระเลิศ) กับ นัดจินหน่อง (น.ท.จงเจต วัชรานันท์) แม่ลูกแผนสูงกับยาพิษลอบฆ่า ยิ่งซูมขวดยาชัดๆ มันยิ่งใช่มากๆ รวมถึงฉากที่พระเจ้านันทะบุเรงเห็นภาพหลอน(วิญญาณ?)พระมหาอุปราชาผู้เป็นโอรสที่คัลท์เสียเหลือเกิน หลุดโลกทั้งการแสดงและการเล่าสภาวะจิตใจตัวละครแบบแฟนตาซีไซโค ในท่าทีที่ไม่ได้เห็นในหนังไทยเรื่องไหนมานาน นอกจากละครโทรทัศน์ 3. การแสดงที่ทำให้ตัวละครที่แลดูมีมิติ เล่นใหญ่จนไร้มิติแต่ยังคงให้มุมมองน่าสนใจ ซึ่ง รัชนี ศิระเลิศ, น.ท.จงเจต วัชรานันท์, นภัสกร มิตรเอม และ จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ เข้าวินชิงชัยมาตามๆ กัน
แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเสียใจหรือดีใจกับ ปีเตอร์ - นพชัย ชัยนาม (พระราชมนู) สรพงษ์ ชาตรี (มหาเถรคันฉ่อง) นิรุตติ์ ศิริจรรยา (เมงเยสีหตู) และ อาร์ต - อัสนี สุวรรณ ที่สุ้มเสียงยังดูเป็นคนในโลกเสมือนจริงผิดแปลกไปจากชาวอโยธยาและพม่ารามัญส่วนใหญ่ ส่วน แอฟ - ทักษอร เตชะณรงค์ (มณีจันทร์) ที่ถึงจะเปลี่ยนนามสกุลแล้วก็ยังสวยมาก และสุดท้ายนี้ยินดีกับ ผู้พันเบิร์ด ที่ถึงแม้จะไม่ได้ธรรมชาติสมบูรณ์แบบแต่ก็สามารถฝ่าด่านดราม่ายาวยืดร่วมกับนักแสดงทุกคนที่ปรากฏอยู่ในฉากจบผ่านมาได้ด้วยพัฒนาการแสดงที่กระเตื้องขึ้นในเฮือกสุดท้าย
ด้วยความที่ลวกเส้นยังไม่สุกดีทำให้ก๋วยเตี๋ยวชามนี้ไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษตามสูตรเหมือนความยิ่งใหญ่และความเยอะแยะที่ภาคก่อนๆ หน้าดูจะเอาใจมวลชนได้มากกว่า ซึ่งพอได้อาศัยลูกเล่นเดียวกันซ้ำทางเดิมกันมาตลอดมันก็ทำให้ไม่มีอะไรที่ใหม่อีกแล้วนอกจากการออกแบบให้เห็นความโอ่อ่าทางภาพที่แม้จะทำสำเร็จมันก็ให้แค่ความหวือหวาตื่นตาตื่นใจ แต่กับภาคนี้พอมันลดความสำคัญของความยิ่งใหญ่ลงตามเรี่ยวแรงกำลังคนทำ กำลังทุน หรืออาจเกิดจากความตั้งใจก็แล้วแต่ มันกลับทำให้เกิดมิติประเด็นเรื่องราวและตัวละครที่เหลือปรากฏบนจอที่พอดีกับเนื้อเรื่อง ไม่ระเบิดระบายจนฟูมฟายเกินไป ความลุ่มๆ ดอนๆ มันกลายเป็นเครื่องมือขจัดส่วนซ้ำซากเดิมๆ และเกิดแง่งามให้เห็นชัดขึ้นจนสัมผัสตัวตนตัวละครได้โดยที่หนังไม่ต้องพยายาม เป็นมุมใหม่ที่น่าลิ้มลองสัมผัสดู
ปล.นี่เป็นการเขียนถึงหนังหนังเวอร์ชั่นรอบปฐมทัศน์ที่ได้มีโอกาศไปดูมา เวอร์ชั่นฉายโรงขายตั๋วจริงที่ลือกันว่าหนังได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมใหม่หลังจากนั้นผู้เขียนไม่อาจรู้ได้นะครับ^^
สรุปผลวิจารณ์หนัง
บทหนัง
5.5
การดำเนินเรื่อง
5.5
ดนตรีประกอบ
6
ฝีมือนักแสดง
6.5
กราฟฟิก
5.5
คะแนนเฉลี่ย
5.8
|
ยังไม่มีรีวิวหนังเรื่องนี้
sithai
7 พฤษภาคม 2558 00:06:09 (IP 115.84.116.xxx)
|
||
GUEST |
good
|
ถูกใจ
ไม่ถูกใจ